Phone

Line

Wechat

Hide

เศรษฐกิจแบบนี้ หากต้องปิดกิจการชั่วคราว นายจ้างควรทำอย่างไร

by | May 29, 2022 | Uncategorized | 0 comments

โปรแกรมบริหารงานบุคคล

เมื่อบริษัทต้องเผชิญวิกฤตการณ์อย่างหนักในการดำเนินกิจการ จนมีเหตุอันควรให้ต้องปิดกิจการบางส่วน หรือทั้งหมด เป็นการชั่วคราว เช่นประสบภาวะขาดทุน เป็นหนี้ค่าวัสดุ หรือลูกค้ายกเลิกคำสั่งซื้อ ทำให้คำสั่งซื้อลดลง เมื่องานมีน้อย ลูกจ้างมีมาก จึงจำเป็นต้องประกาศปิดกิจการชั่วคราวเพื่อแก้ไข คลี่คลายสถานการณ์ให้บรรเทาเบาบางลง ก่อนพร้อมเปิดดำเนินการอีกครั้ง

ในกรณีที่ต้องการปิดกิจการชั่วคราว นายจ้างควรทำอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดการประท้วงของเหล่าพนักงาน ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้าง

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และออกพระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 75 บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้าง จนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัยให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ณ สถานที่จ่ายเงินตามมาตรา 55 และภายในกำหนดเวลาการจ่ายเงินตามมาตรา 70 (1) ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ”

การปิดกิจการชั่วคราวตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น จึงมีหลักเกณฑ์ดังนี้

1. นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดสำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติซึ่งไม่ใช่เหตุสุดวิสัยการหยุดกิจการตามกฎหมายนั้น ต้องเป็นการหยุดกิจการโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่สำคัญอันมีผลกระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างเป็นอย่างมากจนทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการตามปกติได้ หากเป็นความจำเป็นที่กระทบต่อการประกอบกิจการของนายจ้างบ้างเพียงเล็กน้อย อาจไม่เข้าข่ายที่นายจ้างผู้ประกอบกิจการจะหยุดกิจการชั่วคราวตามบทบัญญัตินี้ได้ และต้องไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ตามนัยความหมายของเหตุสุดวิสัยตามกฎหมายนั้นได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 “เหตุสุดวิสัยหมายความว่า เหตุใดๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น”

2. นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง หรือสถานที่อื่น หรือวิธีการอื่นตามที่ตกลงกันและภายในกำหนดเวลาการจ่ายเงินโดยต้องจ่ายเงินไม่น้อยกว่าเดือนละหนึ่งครั้ง หรือตามที่นายจ้างและลูกจ้างมีการตกลงกันเป็นอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง

3. นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือก่อนวันเริ่มหยุดกิจการชั่วคราวไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ และหากตรวจสอบพบว่านายจ้างแจ้งเหตุจำเป็นที่ต้องปิดกิจการเป็นความเท็จ ลูกจ้างมีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลแรงงานเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามข้อตกลงที่นายจ้างให้ไว้ได้               

จากที่กล่าวมาข้างต้น การเลือกใช้วิธีปิดกิจการชั่วคราว เพื่อลดรายจ่ายและหาทางแก้ไขปัญหาหนี้สินของบริษัทนั้น เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีกว่าการเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดในทันที เนื่องจากการเลิกจ้างจะมีความรับผิดชอบตามมาอีกมากมาย ทั้งค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่เลิกจ้าง รวมถึงค่าจ้างที่ยังไม่ได้จ่าย ก็ต้องนำมาจ่ายให้ลูกจ้างภายใน 3 วันนับตั้งแต่เลิกจ้างเสียด้วย เพื่อให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างทันทีโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ได้รับการเยียวยาในขณะที่ยังตั้งตัวไม่ได้

               ทั้งนี้ การเลิกจ้างมีกระบวนการที่ซับซ้อนมากมาย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ถูกนายจ้างเอาเปรียบ และเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้นหากบริษัทประสบปัญหาอย่างหนัก การปิดกิจการชั่วคราวจึงเป็นทางออกหนึ่งที่ยุติธรรมต่อทั้งสองฝ่าย

Facebook fanpage : GeeHRM Line@ : 640vtamj Tiktok : GeeHRM Website: GeeHRM

en_USEN