Phone

Line

Wechat

Hide

4 โรคของคนทำงานที่อาจเป็นโดยไม่รู้ตัว

by | Apr 19, 2022 | Uncategorized | 0 comments

โปรแกรมบริหารงานบุคคล
4 โรคของคนทำงาน

               “ลุกก็โอย นั่งก็โอย” 4 โรคของคนทำงาน เป็นอาการที่พนักงานออฟฟิศไม่มีใครอยากเป็นแน่นอน เพราะมันบ่งบอกถึงประสิทธิภาพของร่างกายของเรา และอาจจะหมายถึงอายุ (งาน) ที่มากขึ้นด้วย ในวันที่ร่างกายยังแข็งแรง คนส่วนใหญ่มักไม่ให้ความสำคัญกับสุขภาพมากนัก โดยเฉพาะคนวัยทำงานที่มักจะลืมคำนึงถึงการดูแลสุขภาพของตนเอง การใช้ชีวิตอยู่กับความเร่งรีบตลอดเวลา ทำงานหนัก กินอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อีกทั้งการใช้คอมพิวเตอร์วันละหลายชั่วโมง และการนอนพักผ่อนไม่เป็นเวลาเพื่อทำงานให้เสร็จ ทำให้ร่างกายต้องแบกรับภาวะความตึงเครียดเป็นระยะเวลายาวนานซึ่งส่งผลร้ายต่อร่างกายโดยที่ไม่รู้ตัว พฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิด 4 โรคของคนวัยทำงานที่อาจเป็นโดยไม่รู้ตัว

4 โรคของคนทำงานประกอบไปด้วยดังนี้

1. โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ สำหรับคนทำงานส่วนใหญ่ที่ต้องใช้มือในการทำงาน มักจะมีโรคที่เกิดจากการใช้มือสัมผัสในการทำงาน

กลุ่มที่ต้องระวัง: คนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ทำงาน หรือคนที่ใช้ข้อมือหนัก

จุดสังเกต: มักจะมีอาการชา หรือปวดที่บริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ ลามไปถึงหัวไหล่ โดยอาการมักจะเกิดตอนที่ใช้ข้อมือหนัก ๆ จนทำให้กล้ามเนื้อมืออ่อนแรง ไม่สามารถกำมือได้แน่น

สาเหตุ: การใช้ข้อมือในท่าทางเดิมเป็นประจำ มีการใช้ข้อมือหนัก ๆ เช่น เวลาพิมพ์คีย์บอร์ด หรือตอนควบคุมเมาส์โดยข้อมือมีการเสียดสีกับพื้นโต๊ะตลอดเวลา

การป้องกันและการรักษา: หากอาการยังไม่รุนแรง เบื้องต้นให้ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้มือ ลองหาอุปกรณ์มารองรับ หรือทำการประคบร้อน กดนวดบริเวณพังผืดที่กดทับเส้นประสาท การยืดเส้นประสาท แต่หากเริ่มมีอาการหนักขึ้นอาจต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

2. โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม มักเกิดกับคนทำงานผ่านหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือแม้แต่โทรศัพท์มือถือ ซึ่งการทำงานที่ต้องใช้ตามองสิ่งเหล่านี้เป็นเวลานาน มักจะทำให้เกิดปัญหาตามมา

กลุ่มที่ต้องระวัง: คนที่ต้องทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันนานเกิน 2 ชั่วโมง

จุดสังเกต: ดวงตาล้า ดวงตาแห้ง รู้สึกแสบตา และดวงตาไม่สามารถสู้แสงได้ รวมถึงดวงตาไม่สามารถโฟกัสได้ ทั้งนี้อาจมีอาการปวดหัว ปวดคอ และบ่ารวมด้วย

สาเหตุ: การใช้คอมพิวเตอร์ที่มีแสงสว่างบนหน้าจอมากเกินไป การมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ในระยะใกล้ชิดและเป็นระยะเวลานาน โดยไม่มีการพักสายตา รวมถึงการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ในระดับที่ไม่เหมาะสมกับระดับสายตา

การป้องกันและการรักษา: ควรจะพักสายตาบ่อย ๆ และหมั่นกระพริบสายตา อีกทั้งปรับความสว่างของแสงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และระดับหน้าจอให้เหมาะสมกับระดับสายตา คือศูนย์กลางหน้าจอควรต่ำกว่าระดับสายตา 4-5 นิ้ว หรือ 15 – 20 องศา และควรวางห่างจากสายตาประมาณ 20-28 นิ้ว  ทั้งนี้หากยังมีอาการรุนแรงควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษา

3. โรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม การนั่งทำงานเป็นระยะเวลานานของเหล่าคนทำงาน มักจะทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับคอและหลัง โดยโรคนี้คนทำงานออฟฟิศมักจะเป็นกัน

กลุ่มที่ต้องระวัง: คนที่ต้องนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน หรือคนที่มีพฤติกรรมชอบบิดคอ หมุนคอ

จุดสังเกต: ปวดบริเวณคอ ไหล่ และบ่า บางครั้งอาจมีอาการปวดร่วมกันจนทำให้อาการหนักขึ้นคือลามไปกดทับเส้นประสาท ทำให้อาการปวดลามไปถึงแขน เริ่มมีอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง และหากไปกดทับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองจะทำให้รู้สึกปวดหัว ปวดกระบอกตา และรู้สึกบ้านหมุน

สาเหตุ: มีพฤติกรรมการใช้คอและกล้ามเนื้อแผ่นหลังที่ผิดลักษณะ เช่น การบิดคอ การนั่งก้มหน้าทำงานเป็นระยะเวลานานโดยไม่มีการเคลื่อนไหวใด ๆ

การป้องกันและการรักษา: หากต้องนั่งทำงานเป็นระยะเวลานานให้ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยหมั่นยืดกล้ามเนื้อบ่อย ๆ ไม่ควรโน้มศีรษะอ่านหนังสือเป็นเวลานานเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอทำงานหนักกว่าปกติ ควรยกหนังสือให้ตั้งขึ้นในระดับสายตา ในกลุ่มคนที่อาการยังไม่รุนแรงสามารถรักษาด้วยการรับประทานยา ทำกายภาพบำบัด หรือรักษาโดยใช้คลื่นวิทยุความถี่สูง

4. โรคสมาธิสั้นจากการทำงาน การทำงานที่ต้องใช้สมองในการคิดงานอยู่เกือบตลอดเวลา อาจทำเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะจิตใจและสมอง

กลุ่มที่ต้องระวัง: ทุกคน

จุดสังเกต: ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรบางอย่างได้นาน ความอดทนต่ำ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ การแบ่งเวลา และจัดลำดับ ความสำคัญต่อสิ่งต่าง ๆ ลดลง รวมถึงมีอาการเครียด กังวล และคิดถึงปัญหาอยู่ตลอดเวลาโดยไม่แสดงออก

สาเหตุ: สภาพแวดล้อมในการทำงานที่บีบคั้น วุ่นวาย ต้องรับผิดชอบงาน ภาวะกดดัน เครียด ประกอบกับชีวิตที่เร่งรีบต้องทำทุกอย่างเพื่อแข่งกับเวลา

การป้องกันและการรักษา: พักผ่อน หรือหาวิธีผ่อนคลาย อาจเปลี่ยนอิริยาบถหากรู้สึกว่าทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และควรมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมถึงพยายามจัดลำดับความสำคัญ แบ่งเวลาให้กับการทำงานอย่างเหมาะสม ทั้งนี้หากรู้สึกไม่ดีขึ้นให้ไปลองพูดคุยและปรึกษาจิตแพทย์

en_USEN