Phone

Line

Wechat

Hide

สร้าง Growth mindset ให้ทีม เพื่องานที่เวิร์ค

by | Oct 26, 2022 | Uncategorized

Growth mindset คืออะไร

Growth mindset คือ กรอบความคิดแบบพัฒนาได้ เป็นหลักคิดที่เชื่อว่า คุณสมบัติพื้นฐาน ความรู้ ความสามารถเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ด้วยความพยายามจากการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าคุณสามารถเรียนรู้เรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน ฝึกทักษะที่ไม่ถนัดจนกลายเป็นเชี่ยวชาญ หรือสามารถเปลี่ยนแปลงนิสัยใจคอ หรือพฤติกรรมของตัวเองได้หากพยายามอย่างต่อเนื่อง เป็นหลักคิดที่เชื่อว่ามนุษย์ไม่ควรหยุดที่จะเรียนรู้ และสามารถสร้างทักษะใหม่ ๆ หรือพัฒนาทักษะเดิมที่มีอยู่ให้เติบโตขึ้นได้ ผ่านความพยายามและประสบการณ์ ไม่กลัวที่จะล้มเหลว พร้อมที่จะเรียนรู้จากบทเรียนที่เคยพลาดและลุกขึ้นสู้ใหม่อยู่เสมอ

           การมองเห็นความล้มเหลว หรือข้อผิดพลาดเป็นเรื่องที่ดี เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้กรอบความคิดแบบพัฒนาได้ เป็นSkill ที่มีประโยชน์มากต่อทั้งตัวเองและจะยิ่งมีประโยชน์มากขึ้นถ้าพนักงานในบริษัท เป็นทีมงานที่ทุกคนมีกรอบความคิดแบบพัฒนาได้เหมือนกัน ความคิดที่ว่าปัญหามีไว้ให้แก้ หรือความล้มเหลวมีไว้ให้เรียนรู้ เป็นสิ่งที่จะทำให้คนในทีมสามารถวิเคราะห์ปัญหาได้อย่างตรงจุด ช่วยสร้างทีมเวิร์ค ไม่กล่าวโทษกันเองเมื่อมีข้อผิดพลาด ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ และพร้อมปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ประสบความสำเร็จ รวมไปถึงเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเจอ ดังนั้นการปลูกฝังกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ให้กับพนักงาน ลูกน้อง หรือคนในทีมของคุณจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ว่าหัวหน้าคนไหนก็ไม่ควรละเลย

เทคนิคสร้างกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ให้กับทีมงาน

  1.  เริ่มอย่างช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป

           ถ้าตำแหน่งที่คุณทำอยู่เป็นสายงานที่มีงานในลักษณะเป็นแพทเทิร์น มีระบบการทำงานที่ตายตัว ส่วนใหญ่ทีมงานของคุณจะไม่คุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลง คุณจึงควรเริ่มสร้างกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ให้กับทีมงานแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น ลองเริ่มจากการให้ทุกคนแชร์งานที่ตัวเองทำอยู่ให้เพื่อนในทีมฟัง ให้เล่าว่าแต่ละคนมีวิธีการทำงานอย่างไร ในแต่ละวันเจอปัญหาอะไรบ้าง แม้จะเป็นงานที่ต้องทำแบบเดิมทุกวัน ก็คงมีปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่คนที่ทำเท่านั้นถึงจะรู้และแก้ผ่านไปได้ด้วยตัวเอง การแชร์ข้อมูลการทำงานระหว่างกันจะช่วยให้พนักงานได้ทบทวนการทำงานของตัวเอง และเรียนรู้วิธีการทำงานของคนอื่นไปพร้อมกัน

  2.  สนใจที่ผลงาน มากกว่าชั่วโมงทำงาน

           แทนที่จะนับชั่วโมงการทำงานแบบเก่า ที่ในระหว่างเวลาทำงานต้องนั่งหน้าคอมทำงานเพียงอย่างเดียว ถึงแม้ว่างานที่ได้รับผิดชอบจะเสร็จไปแล้ว ใครมีชั่วโมงทำงานมากที่สุด คนนั้นขยันที่สุด ลองเปลี่ยนมาเป็นการวัดประสิทธิภาพการทำงานจากผลงานที่ได้จะดีกว่า กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ ปริมาณงาน เป้าหมายที่ต้องการและ deadline วันส่งงานให้ชัดเจน แล้วให้พนักงานของคุณไปบริหารเวลาที่ใช้ทำงานเองโดยไม่เข้าไปก้าวก่ายโดยไม่จำเป็น

           วิธีนี้เป็นวิธีการทำงานแบบอาศัยความเชื่อใจ (trust-based work) ที่จะช่วยให้ลูกน้องของคุณรู้สึกมีอิสระในการทำงาน รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบ ลดความเบื่อหน่าย และยังเหลือเวลาไว้ไปพัฒนาสกิลในด้านอื่น การไม่เข้าไปก้าวก่ายลูกน้องในเวลางานนี้รวมไปถึงการปล่อยให้ลูกน้องได้คิดและทำงานด้วยตัวเองด้วย สิ่งนี้จะช่วยให้ลูกน้องรู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง และพร้อมที่พัฒนาเพื่อให้ทำงานได้ดีขึ้นกว่าเดิม

  3. การทำงานที่โปร่งใสและเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นได้ง่าย

           เปลี่ยนวิธีการทำงานเดิมที่หัวหน้าเป็นคนตัดสินใจ รู้ข้อมูลทั้งหมดคนเดียวและรู้ว่าใครกำลังทำงานอะไรอยู่ โดยที่ลูกน้องรู้เพียงแต่งานของตัวเองและต้องข้ออนุญาตถ้าอยากได้ข้อมูลที่ต้องการ มาทำให้ทุกคนสามารถเห็นงานของคนอื่นในทีมได้ และย้ายข้อมูลที่จำเป็นในการทำงานมาไว้ส่วนกลางที่ทุกคนในทีมสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้โดยไม่ต้องขออนุญาต วิธีนี้จะช่วยลดขั้นตอนไม่จำเป็น เช่น การขออนุญาตเข้าถึงข้อมูล ขอข้อมูลจากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เสียเวลาโดยใช่เหตุ ทำงานได้เร็วขึ้น รู้ว่าต้องติดต่อใคร เพราะรู้ว่าใครรับผิดชอบงานส่วนไหนอยู่บ้าง ทำให้การสื่อสารในทีมดีขึ้น และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งทีม

4.    สร้างนวัตกรรมการทำงานใหม่ ๆ

           ลองฝึกให้พนักงานของคุณได้คิดค้นและพัฒนาวิธีการทำงานของตัวเองอยู่เสมอ ผ่านการให้โจทย์งานที่ยากเกินความสามารถเล็กน้อย เพื่อให้พนักงานของคุณได้ก้าวออกจาก comfort zone ของตัวเอง หรือให้ไปลงเรียนหลักสูตรสร้างทักษะใหม่ พร้อมกำหนดผลงานที่ต้องส่งหลังเรียนจบแล้ว รวมไปถึงเปิดรับสนับสนุนไอเดียใหม่ ๆ ที่เกิดจากความคิดของพนักงานของคุณ ชื่นชมในศักยภาพที่ซ่อนอยู่ของลูกน้อง ให้ลูกน้องได้ลองพิสูจน์ความเชื่อใหม่ด้วยตัวเอง และถ้าเป็นสิ่งที่ดี ก็ไม่ลังเลที่จะเอามาใช้ทำงานจริง เหล่านี้ล้วนเป็นการสร้างนวัตกรรมการทำงานใหม่ ๆ จากการพัฒนาของทีมงานของคุณเอง

           สิ่งสำคัญของการสร้างกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ให้กับทีม คือ การให้อิสระในการทำงาน ให้พื้นที่กับวิธีการทำงานใหม่ ๆ เปิดโอกาสให้ลูกน้องได้ทำผิดพลาดบ้าง พร้อมสนับสนุนในทุกการเรียนรู้ และที่สำคัญที่สุดคือ ทำอย่างเข้าใจทีมงานและลูกน้องของคุณ แล้วเลือกแผนสร้างกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ที่เหมาะกับองค์กรของคุณมากที่สุด บางครั้งอาจจะต้องใช้เวลาบ้าง แต่ถ้าคุณสร้างกรอบความคิดแบบพัฒนาได้ให้กับทีมทุกคนได้แล้ว เชื่อได้ว่าบริษัทของคุณจะมีพลังในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ พร้อมปรับตัวให้ทันกับโลกธุรกิจยุค 5.0 และไม่กลัวความล้มเหลว พร้อมลุกขึ้นสู้ใหม่ในทุกสงครามธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

Facebook fanpage : GeeHRM Line@ : 640vtamj Tiktok : GeeHRM Website: GeeHRM

en_USEN