Phone

Line

Wechat

Hide

พนักงาน 5 ประเภท ที่มักจะลาออก

by | Mar 29, 2022 | Uncategorized | 0 comments

โปรแกรมบริหารงานบุคคล
ลาออก

ปัจจุบันถึงแม้สภาพเศรษฐกิจจะขาดสภาพคล่อง แต่ก็ยังคงพบเห็นการลาออกจากงานของบริษัทต่าง ๆ ในอัตราที่สูงขึ้นมาก และมักจะสูงเป็นพิเศษกับตำแหน่งระดับหัวหน้าหรือตำแหน่งบริหาร

สิ่งที่ HR ควรเตรียมตัวรับมือ และบริหารจัดการกับสถานการณ์เหล่านี้ ก็คือการพยายามหาวิธีรักษาพนักงานที่มีทักษะในองค์กรเอาไว้ให้ได้ โดยเฉพาะพนักงานที่มีฝีมือและมีศักยภาพที่เป็นประโยชน์ต่อบริษัท คำถามที่เรามักจะได้ยินจาก HR เสมอว่าพนักงานประเภทไหนกันนะที่มักจะตัดสินใจลาออก

พนักงาน 5 ประเภท ที่มักจะลาออก                             

1. พนักงานที่ต้องการผลประโยชน์คุ้มค่า พนักงานที่ต้องการข้อเสนออัตราจ้างหรือสวัสดิการที่ดีกว่า คุ้มค่ากว่า กรณีนี้องค์กรต้องสำรวจตัวเองด้วยว่าได้ให้ค่าจ้างที่คุ้มค่าแล้วหรือยัง หรือพนักงานที่เก่งแล้วมีอัตราเงินเดือนขยับขึ้นเรื่อย ๆ และมีความถี่ ก็มีโอกาสสูงที่จะเปลี่ยนงานเพราะปัจจัยข้อเสนอเป็นหลัก

2. พนักงานที่ชอบความท้าทาย และต้องการพัฒนาศักยภาพตัวเอง พนักงานที่สนุกกับการทำงาน หรือกระตือรือร้นกับงานได้เสมอ มักจะอยากทำงานที่ท้าทาย แปลกใหม่ ได้รับโอกาสใหม่ๆ หากบริษัทไม่มีงานที่ท้าทาย หรือองค์กรไม่เคยมอบความท้าทายใหม่ๆ ให้ ก็อาจเกิดความเบื่อหน่าย แล้วลาออกเพื่อย้ายงานไปทำในสิ่งที่ท้าทายกว่า รวมถึงองค์กรไม่มีการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพใดๆ ให้พนักงาน หากอยู่ไปแล้วรู้สึกย่ำอยู่กับที่ หรือไม่ได้อะไร ก็ย่อมต้องไปหาบริษัทที่ดูแลใส่ใจเรื่องนี้ได้ดีกว่า

3. พนักงานที่ต้องการทำงานที่รัก ทุกคนมักอยากทำงานที่ตอนเองชอบหรือรัก แต่ก็ไม่ได้มีทุกคนที่ได้ทำงานแบบนั้นเสมอไป การทำงานที่ชอบและรักจะทำให้เขาทำงานได้ดี ไม่เครียด ไม่กดดัน ทำไปได้เรื่อยๆ อย่างมีความสุข แต่ถ้าไม่ใช่งานที่เขาชอบ เขารัก ก็อาจจะทำแล้วเบื่อหน่าย ไม่ประสบผลสำเร็จ และตัดสินใจลาออกในที่สุด

4. พนักงานที่ต้องการความก้าวหน้า คนส่วนใหญ่มองหาตำแหน่งที่มีเส้นทางความก้าวหน้าที่ชัดเจน ความก้าวหน้านั้นหมายถึงทั้งเรื่องการเลื่อนตำแหน่ง, ขอบข่ายความรับผิดชอบ, อำนาจหน้าที่การงาน, รวมถึงการขึ้นเงินเดือน หากไม่เห็นความก้าวหน้าชัดเจน ไม่มี Career Path ที่น่าสนใจ หรือแม้แต่ไม่ถูกดันให้พัฒนา ก็ทำให้พนักงานคนนั้นอยากลาออกได้เช่นกัน

5. พนักงานที่ไม่ถูกเห็นคุณค่า หรือได้รับโอกาส การได้คนเก่งมาร่วมงานกับบริษัทถือว่ายากแล้ว การรักษาไว้ให้ทำงานให้นานที่สุดกลับยากยิ่งกว่า บ่อยครั้งที่บริษัทได้คนดีมีฝีมือมาทำงานด้วย แต่กลับมองไม่เห็นศักยภาพในตัว หรือไม่นำศักยภาพมาใช้ให้เป็นประโยชน์ มองข้ามศักยภาพนั้นไป หรือเห็นแล้วแต่ไม่ยอมส่งเสริม ก็อาจทำให้พนักงานรู้สึกไร้ค่าได้ มนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องการให้คนอื่นเห็นคุณค่าของตน นั่นอาจเป็นเหตุให้พนักงานตัดสินใจย้ายองค์กรได้

วิธีในการรักษาพนักงาน

จากประเภทพนักงานที่กล่าวมาข้างต้นนั้น หากบริษัทไม่ต้องการสูญเสียทรัพยากรบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่ององค์กร  บริษัทต้องศึกษาวิธีที่จะสามารถรักษาพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานที่มีฝีมือและมีศักยภาพที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรซึ่งวิธีในการรักษาพนักงานให้ทำงานกับบริษัทได้นานๆ มีดังต่อไปนี้

1. เลือกพนักงานที่ใช่ ถือได้ว่าเป็นประตูด่านแรกในการรับสมัครคัดเลือกคนเข้ามาทำงาน ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยลดอัตราการลาออกของพนักงาน นอกจากจะคัดเลือกพนักงานโดยดูจากประวัติการเรียนและประสบการณ์การทำงานเป็นหลักแล้ว องค์กรจะต้องคัดเลือกคนที่มีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกับองค์กร และมองแล้วว่าจะสามารถทำงานร่วมกับคนในทีมได้ด้วย

2. สวัสดิการต้องมัดใจพนักงาน ทั้งเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง หรือค่าตอบแทนต่างๆ ที่ให้กับพนักงานจะต้องมีความยุติธรรมและเหมาะสมกับงานที่ต้องรับผิดชอบ ถ้าพนักงานคนไหนที่ทำงานได้โดดเด่นและมีผลงานเป็นที่น่าพอใจก็อาจจะปรับเงินเดือนเพิ่มมากขึ้นเมื่อทำงานมาได้ระยะหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การขึ้นเงินเดือนพนักงานเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเพิ่มสวัสดิการพิเศษอื่นๆ ด้วย

3. มีการทำงานที่ยืดหยุ่น ปัจจุบันคนทำงานให้ความสำคัญกับเรื่องเวลางานที่ยืดหยุ่น และ Work Life Balance ที่จะช่วยให้งานกับชีวิตสมดุลกันมากขึ้น การที่องค์กรตึงจนเกินไปและไม่ยืดหยุ่นให้กับพนักงานก็เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานตัดสินใจที่จะเปลี่ยนงานค่อนข้างมาก ซึ่งก็มีวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้พนักงานรู้สึกยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น สามารถเข้างานแบบเก็บเวลาทำงานได้ มีเวลาพักเบรกช่วงบ่าย หรือให้พนักงานไปนั่งทำงานที่อื่นได้

4. แสดงออกให้เห็นว่าองค์กรเห็นคุณค่าของพนักงาน ไม่ว่าพนักงานคนไหนก็คงอยากมีคุณค่าในสายตาขององค์กรทั้งนั้น สิ่งที่องค์กรควรทำก็คือแสดงออกให้พนักงานรู้สึกว่าองค์กรมองเห็นและรับรู้ถึงความตั้งใจในการทำงานของเขา และให้ความสำคัญกับพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เช่น ประกาศหรือให้รางวัลพนักงานดีเด่นประจำเดือนกับคนที่มีความรับผิดชอบ สามารถทำงานสำเร็จลุล่วงได้อย่างดี ตลอดจนการให้เกียรติและเคารพพนักงานในองค์กรทุกคน

5. ให้โอกาสพนักงานเติบโตไปพร้อมองค์กร ไม่ว่าจะเป็นพนักงานในตำแหน่งไหนก็ตาม การที่องค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน เช่น การส่งพนักงานไปศึกษาดูงาน อบรม หรือสนับสนุนค่าเรียนที่เกี่ยวข้องกับงาน ก็จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าองค์กรมองเห็นคุณค่าและมอบโอกาสได้เติบโตไปพร้อม ๆ กันกับองค์กร

6. ให้ความสำคัญกับการสื่อสารและกิจกรรมของคนในองค์กร การที่องค์กรปล่อยให้พนักงานต่างคนต่างทำงานโดยไม่สนใจว่าบรรยากาศภายในองค์กรจะเป็นอย่างไรนั้น คือสาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้พนักงานอยากลาออก เพราะไม่มีอะไรที่จะทำให้พนักงานรู้สึกแย่มากไปกว่าการที่ภายในองค์กรมีบรรยากาศที่ไม่น่าทำงาน ซึ่งบรรยากาศไม่ใช่แค่สถานที่ทำงานเท่านั้นแต่รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับเพื่อนในแผนกและหัวหน้าด้วย ดังนั้น องค์กรจึงต้องเปิดโอกาสให้พนักงานได้สื่อสารและแสดงความคิดเห็นบ้าง แล้วลองเลือกข้อเสนอแนะมาปรับใช้กับองค์กรต่อไป

จากที่กล่าวมาแล้ว หวังว่า HR หลาย ๆ คน คงจะพอจะได้แนวทางในการรับมือ กับปัญหาการลาออกของพนักงานได้ครับ

Facebook fanpage : GeeHRM Line@ : 640vtamj Tiktok : GeeHRM Website: GeeHRM

en_USEN